Sunday, December 15, 2024

๑ อัญขยมบรมนเรศเรื้อง... รามวงศ์ #book #books




 โคลงโลกนิติ ฉบับถอดความ

๑ อัญขยมบรมนเรศเรื้อง...  รามวงศ์

พระแผ่นไผททรง................ สืบไท้

แสวงยิ่งสิ่งสดับองค์........... โอวาท

หวังประชาชนให้................อ่านแจ้งคำโคลง ฯ

คำแปลศัพท์

อัญขยม-- ข้า,ข้าพเจ้า(อ่านว่า อัน-ขะ-หยม)

บรมนเรศ-- พระราชาผู้ยิ่งใหญ่

เรื้อง-- เรือง,รุ่งเรือง

แผ่นไผท-- แผ่นดิน,

สืบไท้-- สืบความเป็นใหญ่

ถอดความ

ข้าพระพุทธเจ้า(ขอถวายบังคมพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ผู้เป็นจอมคนผู้ยิ่งใหญ่ วงศ์แห่งรามาธิบดี

ได้ทรงครองแผ่นดิน สืบสันตติวงศ์แห่งพระมหากษัตริย์มา

ทรงแสวงหาสิ่งที่ดียิ่ง ได้ทรงสดับคำสั่งสอน(กล่าวคือโคลงโลกนิตินี้)

ทรงปรารถนาให้คนทั้งหลายได้อ่านดูรู้แจ้งคำโคลงโลกนิตินี้ด้วย

๒ ครรโลงโลกนิตินี้...... นมนาม #book #books

 


๒ ครรโลงโลกนิตินี้...... นมนาม

มีแต่โบราณกาล......... เก่าพร้อง

เป็นสุภษิตสาร............ สอนจิต

กลดั่งสร้อยสอดคล้อง.. เวี่ยไว้ในกรรณ ฯ

คำแปลศัพท์

ครรโลง-- คำประพันธ์ชนิดหนึ่ง(แผลงมาจากคำว่า โคลง)

พร้อง-- พูด,กล่าว,ร้อง

สุภษิต-- สุภาษิต,คำพูดที่เป็นคติ

เวี่ย-- ทัด,ประดับ

กรรณ-- หู

ถอดความ

โคลงโลกกนิตินี้เป็นของมีมานาน

ปราชญ์แต่โบราณกาลท่านกล่าวไว้

เป็นสสุภาษิตสอนใจมีสาระมิใช่น้อย

เปรียบประดุจสายสร้อยประดับสำหรับเป็นมงคลแก่หู

๓ ปลาร้าพันห่อด้วย.. ใบคา #book #books

 


๓ ปลาร้าพันห่อด้วย.. ใบคา

ใบก็เหม็นคาวปลา..... คละคลุ้ง

คือคนหมู่ไปหา.......... พบเพื่อน พาลนา

ได้แต่ร้ายร้ายฟุ้ง........ เฟื่องไห้เสียพงศ์ ฯ

คำแปลศัพท์

ปลาร้า-- ปลาหมักเกลือ ใส่ข้าวคั่ว ใช้เป็นเครื่องจิ้ม,ปลาเน่า

ใบคา-- ใบพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ใบคาย แข็ง เอามากรองเป็นตับมุงหลังคา เหง้าใช้ทำยาได้

คละคลุ้ง-- คลุ้ง,เหม็นคล้ายกลิ่นของเค็มปนของเน่า

พงศ์-- เชื้อสาบย,เทือกเถา,เหล่ากอ,สกุล

ถอดความ

ปลาร้าห่อด้วยใบหญ้าคา

ใบคาก็ย่อมพลอยเหม็นคาวปลาไปด้วย ฉันใด

คนทั้งหลายที่คบหาสมาคมกับคนพาล

ก็ย่อมได้พบแต่เรื่องร้ายพลอยเสียหายถึงตระกูลคนดีไปด้วย ฉันนั้น

๔ ใบพ้อพันห่อหุ้ม ........กฤษณา #book #books

 


๔ ใบพ้อพันห่อหุ้ม ........กฤษณา

หอมระรวยรสพา...........เพริศด้วย

คือคนเสพเสนหา...........นักปราชญ์

ความสุขซาบฤาม้วย..... ดุจไม้กลิ่นหอม ฯ

คำแปลศัพท์

ใบพ้อ-- ใบต้นกะพ้อ เป็นต้นปาล์มชนิดหนึ่ง

กฤษณา-- เนื้อไม้หอม ที่เกิดขึ้นเมื่อมีสารลงที่เนื้อไม้จำพวก ต้นสลัดได,ต้นตาตุ่มทะเล

เสพ-- คบหาสมาคมด้วย

เสนหา-- เสน่หา,รักชอบ

ซาบ-- ซาบซ่าน

ฤาม้วย-- ไม่หมด,ไม่หาย,ไม่จาง,ไม่สิ้นไป

ถอดความ

ไม้กฤษณาห่อด้วยใบกะพ้อ

ใบกะพ้อก็พลอมหอมระรวยกลิ่นกฤษณาไปด้วย ฉันใด

คนทั้งหลายที่คบหาสนิทสนมกับบัณฑิต

ก็ย่อมได้พบกับความสุขซาบซึ้งมิรู้วายดุจเดียวกับไม้กฤษณา ฉันนั้น

๕ ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้.... มีพรรณ #book #books

 


๕ ผลเดื่อเมื่อสุกไซร้.... มีพรรณ

ภายนอกแดงดูฉัน....... ชาดบ้าย

ภายในย่อมแมลงวัน....หนอนบ่อน

ดุจดังคนใจร้าย...........นอกนั้นดูงาม ฯ

คำแปลศัพท์

เดื่อ-- มะเดื่อ,ไม้ชนิดหนึ่งมีหลายพันธุ์

พรรณ-- สีของผิว

ฉัน-- เหมือน

ชาด-- วัตถุสีแดงสดใสชนิดหนึ่ง

บ้าย-- ป้าย,ทำให้ติดเฉพาะที่

บ่อน-- กินฟอนเฟะอยู่ข้างใน

ถอดความ

ผลมะเดื่อเมื่อสุกมีสีสันหมดจด

ดูภายนอกแดงสดประหนึ่งว่าแต้มด้วยชาด

แต่ภายในอุจาดมีตัวแลงตัวหนอนบ่อนไส้

เปรียบเหมือนคนร้ายภายนอกดูงามเรียบร้อย(แต่ภายในมีแต่ความเลวทราม)

๖.ขนุนสุกสล้าง............. สาขา #book #books

 


๖.ขนุนสุกสล้าง............. สาขา

ภายนอกเห็นหนามหนา..หนั่นแท้

ภายนอกย่อมรสา...........เอมโอช

สาธุชนนั้นแล้ ...............เลิศด้วยดวงใจ ฯ

คำแปลศัพท์

สล้าง-- ตั้งอยู่สูงเด่นเป็นหมู่เป็นพวก

สาขา-- กิ่ง,ก้าน

หนั่น-- แน่น,แน่นหนา

รสา-- รส

เอมโอช-- รสหวาน,รสอร่อย

สาธุชน-- คนดี,คนมีคุณธรรมความดี

ถอดความ

ผลขนุนที่สุกสล้างอยู่ตามก้านกิ่ง

ดูภายนอกก็เห็นจริงว่ามีหนามเต็มไปหมด

แต่เนื้อขนุนภายในย่อมมีรสหวานอร่อยนัก

เปรียบเหมือนคนดี(ภายนอกดูไม่ประจักษ์ว่างาม)แต่ทว่างามเลิศด้วยดวงใจ

๗ ยางขาวขนเรียบร้อย... ดูดี #book #books

 


๗ ยางขาวขนเรียบร้อย... ดูดี

ภายนอกหมดใสสี...........เปรียบฝ้าย

กินสัตว์เสพปลามี...........ชีวิต

เฉกเช่นชนชาติร้าย........ นอกนั้นนวลงาม ฯ

คำแปลศัพท์

ยางขาว-- นกกระยางสีขาว

เสพ-- กิน

เฉก--เช่น เหมือน

คนชาติร้าย-- คนชั่ว,คนไม่ดี,คนบาป

ถอดความ

นกยางขนสีขาวดูสะอาดเรียบร้อยดีไปหมด

ดูภายนอกในสดดุจปุยฝ้าย

แต่ใจร้ายกินสัตว์มีชีวิต เช่นปลา เป็นต้น

เปรียบเหมือนคนร้ายซึ่งงามแต่ภายนอก(แต่ภายในทราม)

๘ รูปแร้งดูร่างร้าย....... รุงรัง #book #books

 


๘ รูปแร้งดูร่างร้าย....... รุงรัง

ภายนอกเพียงพึงชัง.....ชั่วช้า

เสพสัตว์ที่มรณัง..........นฤโทษ

ดังจิตสาธุชนกล้า........กลั่นสร้างทางผล ฯ

คำแปลศัพท์

รูปแร้ง--ตัวของแร้ง          

มรณัง-- ตาย

นฤโทษ-- ไม่มีโทษ,ไม่มีความผิด

เสพ-- กิน

กล้ากลั่น-- กลาหาญอย่างยิ่ง, กล้าหาญอย่างรอบคอบ

ทางผล --แนวทางที่ดีงาม, ที่เป็นประโยชน์

ถอดความ

นกแร้งรูปร่างเลวร้ายรุงรัง

มองภายนอกน่าเกลียดชังช่างชั่วช้าชัดๆ

แต่กินสัตว์ที่ตายแล้วอันไม่มีโทษไม่มีผิด

เปรียบเหมือนคนดีมีน้ำจิตกล้าหาญในการประกอบความดี

๙ คนพาลผู้บาปแท้......ทุรจิต #book #books

 


๙ คนพาลผู้บาปแท้......ทุรจิต

ไปสู่หาบัณฑิต............ ค่ำเช้า

ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์...บ่ซาบ ใจนา

คือจวักดักเข้า............ ห่อนรู้รสแกง ฯ

คำแปลศัพท์

ทุรจิต-- มีจิตใจชั่ว

ฟังธรรม-- ฟังคำสั่งสอน

บ่ซาบใจ-- ไม่ซึมซาบเข้าในจิตใจ

จวัก-- เครื่องใช้ตักข้าวและแกง ทำด้วยกะลามะพร้าว มีด้ามรูปคล้ายทัพพี

เข้า-- ข้าว

ถอดความ

คนพาลสันดานบาปใจชั่ว

ถึงจะไปคบหาสมาคมกับนักปราชญ์ทุกค่ำเช้า

ฟังธรรมคำสั่งสอนของท่านอยู่เป็นประจำ ก็หาที่จะรับรสธรรมนั้นได้ไม่

เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกงฉะนั้น

๑๐ ผู้ใดใจฉลาดล้ำ..... ปัญญา #book #books

 


๑๐ ผู้ใดใจฉลาดล้ำ..... ปัญญา

ได้สดับปราชญ์เจรจา... อาจรู้

ยินคำบัดเดี๋ยวมา......... ซับซาบ ใจนา

คือมลิ้นคนผู้................ ซาบรู้รสแกง ฯ

คำแปลศัพท์

ล้ำปัญญา-- มีความรอบรู้ล้ำเลิศ

สดับ-- ฟัง

เจรจา-- พูด,อบรม, สั่งสอน

ยินคำ-- ได้ยินได้ฟังถ้อยคำ

บัดเดี๋ยว-- ประเดี๋ยว

มลิ้น-- ลิ้น

ถอดความ

ส่วนคนดีมีปัญญาเฉลียวฉลาด

ได้ฟังนักปราชญ์เจรจา(สั่งสอนธรรม) ย่อมเข้าใจได้

แม้จะฟังเพียงชั่วครู่ยามก็เข้าใจได้ซึมซาบ

เหมือนลิ้นที่รสแกงฉะนั้น

๑๑ หมูเห็นสีหราชท้า.. ชวนรบ #book #books

 


๑๑ หมูเห็นสีหราชท้า.. ชวนรบ

กูสี่ตีนกูพบ.................. ท่านไซร้

อย่ากลัวท่านอย่าหลบ..หลีกจาก กูนา

ท่านสี่ตีนอย่าได้.......... วากเว้นว่างหนี ฯ

คำแปลศัพท์

สีหราช-- พญาราชสีห์,พญาสิงโต

วาก-- เปล่า, หาย

เว้-- เถลไ-ถล,หลบลี้

ถอดความ

หมูเห็นราชสีห์ก็ท้าสู้ขึ้นว่า

กูมีสี่เท้ามาพบมึง

มึงอย่ากลัวอย่าหลบกู

มึงก็มีสี่เท้าอย่าหนีกูไปเสีย

๑๒ สีหราชร้องว่าโอ้.... พาลหมู #book #books

 


๑๒ สีหราชร้องว่าโอ้.... พาลหมู

ทรชาติครั้นเห็นกู......... เกลียดใกล้

ฤามึงใคร่รบดนู........... มึงนาศ เองนา

กูเกลียดมึงกูให้........... พ่ายแพ้ภัยตัว  ฯ

คำแปลศัพท์

พาลหมู--หมูเกเร

ทรชาติ-- ชาติชั่ว

เกลียดใกล้-- ไม่อยากเข้าใกล้

ดนู-- กู,ฉัน,ข้าพเจ้า

นาศ-- พินาศ,เสื่อม,ป่นปี้

พ่ายแพ้ภัยตัว-- ขอยอมแพ้เสียเอง

ถอดความ

ราชสีห์จึงร้องตอบว่าอะหาเจ้าหมูพาล

มึงมันชาติชั่วกูเห็นแล้วกูเกลียดไม่อยากเข้าใกล้

ถ้ามึงจะสู้กับกูจริง ๆแล้วมึงนั่นแหละจะตายเอง

แต่กูเกลียดตวามสกปรกของมึงก็จึงยอมให้มึงชนะ

๑๓ กบเกิดในสระใต้... บัวบาน #book #books


 

๑๓ กบเกิดในสระใต้... บัวบาน

ฤาห่อนรู้รสมาลย์........ หนึ่งน้อย

ภุมราอยู่ไกลสถาน.......นับโยชน์ ก็ดี

บินโบกมาค้อยค้อย......เกลือกเคล้าเสาวคนธ์ ฯ

คำแปลศัพท์

บัวบาน-- ดอกบัวที่กำลังบานสะพรั่ง

รสมาลย์-- ความหวานของดอกไม้

ภุมรา-- แมลงผึ้ง,แมลงภู่

ค้อยค้อย--บ่อยๆ,เนืองๆ

เสาวคนธ์-- กลิ่นหอม 

ถอดความ

กบเกิดในสระใต้บัวบาน

แต่หารู้รสเกสรบัวสักน้อยหนึ่งไม่

แมงภู่อยู่ไกลสระเป็นร้อย ๆโยชน์

บินมาเกลือกกลั้วเกสรบัวได้เสมอ ๆ

๑๔ ใจชนใจชั่วช้า...........โฉงเฉง #book #books

 


๑๔ ใจชนใจชั่วช้า...........โฉงเฉง

ใจจักสอนใจเอง............. ไป่ได้

ใจปราชญ์ดัดตามเพลง.. พลันง่าย

ดุจช่างปืนดัดไม้ ............แต่งให้ปืนตรง ฯ

คำแปลศัพท์

ชนใจชั่วช้า-- คนใจบาปใจดำอำมหิต

โฉงเฉง-- เกะกะ,เกเร

ตัดตามเพลง-- ดัดตามแบบอย่างที่ดี

ปืน-- ลูกศร

ถอดความ

ใจคนชั่วที่มีจิตใจชั่วช้าเกะกะ

จะใช้ใจสอนตัวเองให้ชนะนั้นหาได้ไม่

ใจคนดีคนฉลาดอาจจะดัดให้ดีได้ง่าย

เหมือนช่างศรดัดลูกศรให้ตรงฉะนั้น

๑๕ ไม้ค้อมมีลูกน้อม....... นวยงาม #book #books

 


๑๕ ไม้ค้อมมีลูกน้อม....... นวยงาม

คือสัปปุรุษสอนตาม........ ง่ายแท้

ไม้ผุดั่งคนทราม.............. สอนยาก

ดัดก็หักแหลกแล้............ ห่อนรื้อโดยตาม ฯ

คำแปลศัพท์

นวย --น้อม

สัปปุรุษ-- คนดี,คนมีใจสงบ เยือกเย็น

คนทราม--คนเลว,คนไม่ดี

ห่อนรื้อ-- ไม่อาจจะให้เป็นไป

โดยตาม-- อย่างที่ใจปรารถนา, ทำตาม

ถอดความ

ไม้ที่มีผลย่อมน้องกิ่งลงดูงามตาสะพรั่ง

เหมือนคนดีที่อาจสอนสั่งให้ทำตามได้ง่าย

ส่วนไม้ผุ ๆ นั้นเหมือนกับคนชั่วสอนยากมักทรยศ

ขืนจะดัดก็หักหมดมิได้อ่อนไปตาม