Wednesday, April 10, 2024

๒๔๓ รู้ดีดุรงคด้วย.................... รณแรง รวดแฮ

 

๒๔๓

รู้ดีดุรงคด้วย.................... รณแรง รวดแฮ

รู้ว่าโคงาน....................... เมื่อใช้

โคนมเกษียรแสดง............. ดีเมื่อ รูดนา

รู้ว่าปราดเปรื่องไซร้...........เมื่อถ้อยคำแถลง ฯ

คำแปลศัพท์

ดุรงค                                - ม้า (อ่านว่า ดุ-รง-คะ)

รณ                                    - การรบ สนามรบ

แรง                                    - แข็งแรง, มีกำลัง,

รวด                                    -เร็ว, ไว

โคงาน                                - โคเลี้ยงไว้ใช้งาน เช่น เทียมเกวียน ไถนา เป็นต้น

แขง                                    - แข็ง แข็งแรง มีกำลังมาก

เกษียร                               - น้ำนม

เมื่อรูด                               - เมื่อรีดน้ำนม

เปรื่อง                               - เชียวชาญ แตกฉาน

เมื่อถ้อยคำแถลง               - เมื่อพูดอธิบายความ

ถอดความ

จะรู้ว่าม้าดี ก็เมื่อขับขี่รบรวดเร็วเรี่ยวแรงดี

จะรู้ว่าโคมีกำลังเข้มแข็ง ก็ต่อเมื่อใช้งานหนัก

จะรู้ว่าแม่โคสมบูรณ์ประจักษ์ ก็ต่อเมื่อรีดน้ำนม

จะรู้ว่าเป็นนักปราชญ์แหลมคม ก็ต่อเมื่อได้ฟังถ้อยคำเจรจา

๒๔๔ นกแสกสกุณโทษเค้า.......... กู่กา

 

๒๔๔

นกแสกสกุณโทษเค้า..........  กู่กา

ทิ้งทูดอูฐอีกลา.................... ล่อร้อง

เสียงประทุษฐภาษา............. หีนโหด

ฟังบ่เพราะหูพร้อง................ ดุจถ้อยทรชน

คำแปลศัพท์

นกแสก                               - นกชนิดหนึ่ง หากินกลางคืน

สกุณโทษ.                            - นกชั่วร้าย,นกอัปมงคล

เค้า                                      - นกเค้าแมว,นกฮูก(เค้ากู่=นกเค้าแมวชนิดหนึ่ง)

ทิ้งทูด                                   - นกชนิดหนึ่งในจำพวกนกทึดทือ

ลา                                        - สัตว์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายม้า cต่มีหูยาวปลายหางเป็นพู่

ล่อ                                        - สัตว์ผสม แม่เป็นลา พ่อเป็นม้า

ประทุษฐ                              - ชั่ว, ร้าย ,น่ารำคาญ, ไม่ไพเราะ, ไม่น่าฟัง, น่ากลัว

หีน                                      - เลว, ทราม, ต่ำช้า

โหด                                    - ชั่ว, ร้าย

พร้อง                                 -ร้อง, ร้องอย่างไพเราะ

ถอดความ

นกแสก นกเค้าแมว กา เป็นพวกนกร้าย

นกทิ้งทูด อูฐ ลา และล่อ เมื่อส่งเสียงร้อง

เสียงนั้นเป็นเสียงมีโทษ โหด เลวทราม

ฟังไม่ไพเราะหู เปรียบดูก็เหมือนถ้อยคำของพวกทรชน

๒๔๕ แขกเต้าดุเหว่าแก้ว............... โกญจา

 

๒๔๕

แขกเต้าดุเหว่าแก้ว............... โกญจา

หงส์วิหคมยุรา...................... ร่ำร้อง

เฉกนรชาติวาจา ....................เอมโอช

ฟังเสนาะเพราะพร้อง..............มฤธุถ้อยวาที ฯ

คำแปลศัพท์

แขกเต้า                    - นกแก้วชนิดหนึ่ง บางทีเรียก แก้วแขก

ดุเหว่า                      - นกดุเหว่า หรือกาเหว่า

โกญจา                  - นกกระเรียน

หงส์                          - นกในนิยาย ถือว่าเป็นนกตระกูลสูง มีเสียงไพเราะ

วิหค                          - นกทั่วไป (ในทีนี้หมายเอานกที่มีเสียงดี)

มยุรา                         - นกยูง

เฉก                           -เหมือน

นรชาติ                      -มนุษย์, บุคคล, คน

พร้อง                       - ร้อง พูด

มฤธู                         - นุ่มนวล ไพเราะ อ่อนหวาน

วาที                         -การพูดจา การกล่าว

ถอดความ

นกแขกเต้า นกดุเหว่า นกแก้ว นกกระเรียน

หงส์ นกยูง เหล่านี้เมื่อยามขันร้องเสียงไพเราะทุกที

เหมือนถ้อยคำของคนดีที่ดูดดื่มหัวใจ

ฟังเสนาะเสียนี่กระไร เพราะเป็นคำพูดดีมีความอ่อนหวาน

๒๔๖ สกุลกากระเหว่าไซร้............... เหมือนกัน

๒๔๖

สกุลกากระเหว่าไซร้............... เหมือนกัน

ไข่ต่อไข่สำคัญ........................เท่าแท้

ออกลูกจึ่งแปรผัน................... ตามเพศ

กากระเหว่านั้นแล้.................. ทั่วผู้เล็งเห็น ฯ

คำแปลศัพท์

สกุณ                                  - นก

กา                                      - นกกา, หรืออีกา

กระเหว่า                             - นกดุเหว่า, หรือกาเหว่า

ไข่ต่อไข่                           .    - เอาไช่มาเทียบกัน

ตามเพศ                               - ตามชนิด, ตามประเภท, ตามเผ่าพันธุ์

ถอดความ

กากับดุเหว่า มีเค้าที่คล้ายคลึงกัน

คือไข่ของมันเหมือนกันแท้ ๆ

ต่อฟักเป็นตัวจึงแปรแปลกไปตามสัญชาติ

จะเป็นกาหรือดุเหว่าจะเห็นกันได้ทุกคน


๒๔๗ นกแร้งแรงร่อนได้.................. พอเพียงปีกนา

 

๒๔๗

นกแร้งแรงร่อนได้.................พอเพียงปีกนา

บินบ่สูงแข่งเคียง................. ครุฑได้

แม่น้ำนทีเรียง .....................รายทั่ว ทวีปแฮ

ลึกเท่าลึกนั้นไซร้.................. สุดสู่สาคร ฯ

คำแปลศัพท์

นกแร้ง                                - นกชนิดหนึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในจำพวกเหยี่ยว-แร้ง ปีกกว้าง หางสั้น หัวเล็ก ลำคอไม่มีขน กิน  ซากสัตว์

ครุฑ                                    - พญานกที่เป็นพาหนะของพระนารายณ์ ถือว่าบินได้สูงที่สุด เร็วที่สุด

นที                                      - แม่น้ำ สายน้ำ

ทวีป                                    - แผ่นดิน

สาคร                                   - ทะเล

ถอดความ

นกแร้งมีแรงบินไปได้เท่ากำลังปีกของมัน

จะบินให้สูงเทียมทันพญาครุฑนั้นไม่ได้

แม่น้ำทุก ๆสายที่รินไหลอยู่ในโลกนี้

แม้จะลึกเท่าไร ๆก็ดี ก็ไม่เท่าท้องทะเล

๒๔๘ ควรแสวงสี่สิ่งแท้........... มณีรัตน์

 

๒๔๘

ควรแสวงสี่สิ่งแท้........... มณีรัตน์

พึงจักจำเริญสวัสดิ์......... แว่นแก้ว

ความรู้มิตรเมียสัจ......... เข้าเปลือก มีนา

อย่าเสียใจได้แล้ว.......... เท่านี้ฤาแคลน ฯ

คำแปลศัพท์

มณีรัตน์                        - แก้วมณี

จำเริญ                          - เจริญ, รุ่งเรือง, ก้าวหน้า

สวัสดิ์                       - โชคดี อยู่ดีมีสุข

แว่นแก้ว                   -ผุดผ่องดังแก้ว

มิตร                        -เพื่อน

เข้าเปลือก                - ข้าวเปลือก

ฤาแคลน                 - ไม่ขาดแคลนขัดสน

ถอดความ

สิ่งที่เป็นดังแก้วมณี ๗ ประการ ควรแสวงหา

จะพาให้ชีวิตประสบสุขสวัสดี

คือวิชาความรู้ ๑ เพื่อน ๑ เมีย๑ ข้าวเปลือก(=ทรัพย์สิน) ๑

หาได้ดังนี้แล้ว จะไม่ต้องเสียใจ , ไม่มีใครดูหมิ่น

(และไม่มีอันใดที่ขาดแคลน)

๒๔๙ วิชาควรรักรู้,,,,,,,,,,,,,,,,,,, ฤาขาด

 

๒๔๙

วิชาควรรักรู้,,,,,,,,,,,,,,,,,,, ฤาขาด

อย่าหมิ่นศิลปะศาสตร์.....ว่าน้อย

รู้จริงสิ่งเดียวอาจ............. มีมั่ง

เลี้ยงชีพช้าอยู่ร้อย........... ชั่วลื้อหลานเหลน ฯ

คำแปลศัพท์

วิชา                             -ความรู้

ควรรักรู้                        - ควรใส่ใจเรียนรู้

ฤาขาด                         -อย่าให้ขาด, อย่าได้ขาด

ศิลปะศาสตร์                - วิชาการต่าง ๆซึ่งไม่ใช่วิชาทางเทคนิคหรือทางอาชีพ, ตำราว่าด้วยวิชาความรู้เกี่ยวกับฝีมือ

มีมั่ง                             - มั่งมี, ร่ำรวย

ลื้อ(ลื่อ)                         -ลูกของเหลน

ถอดความ

ควรมีใจรักแสวงหาความรู้อยู่เป็นอาจิณ

รู้แล้วอย่าดูหมิ่นว่าเรื่องที่รู้นั้นเล็กน้อยด้อยค่า

ถ้าเชี่ยวชาญในวิชาจริงๆ แม้สิ่งเดียวก็อาจมั่งมีได้

ใช้เลี้ยงชีวิตไปถีงร้อยชั่วคน จนชั่วลูกชั่วหลาน